การดูแลสุขภาพสัตว์เลี้ยงแบบองค์รวม

แมวป่วย…ห้ามให้พารา! ยาดีสำหรับคน ยาพิษสำหรับแมว

 

ทาสแมวหลาย ๆ คน คงกังวลเมื่อน้องแมวมีอาการซึม ตัวร้อน ทานอาหารน้อย หรือไม่ยอมทานอาหาร ทาสอย่างเราก็คิดว่าน้องแมวไม่สบาย จึงอยากช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการให้ยาพาราเซตามอล หวังให้บรรเทาอาการ แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่ายาพาราเซตามอลที่พวกเราใช้กันนั้น มีอันตรายอย่างยิ่งกับร่างกายของน้องแมว ยาพาราเซตามอลเพียงเม็ดเดียวก็สามารถปลิดชีพน้องได้ วันนี้ Lifemate จะมาอธิบายให้เหล่าทาสแมวทั้งหลายทราบว่าเหตุใดจึงไม่ควรให้ยาพาราเซตามอลแก่น้องแมวกัน

 

ทำไมพาราเซตามอลถึงปลอดภัยต่อคน แต่ร้ายต่อน้องแมว?
พาราเซตามอล เป็นยาสามัญประจำบ้าน มีฤทธิ์ในการแก้ปวด และลดไข้ โดยไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ในคนปกติเมื่อร่างกายได้รับยาพาราเซตามอล จะมีการกำจัดออกจากร่างกายผ่านทางตับ ดังนั้นบนแผงยาพาราเซตามอลจึงระบุไว้ว่าไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 5 วัน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตับได้

ซึ่งจากการศึกษาในแมว พบว่าตับของน้องแมวขาดเอมไซม์ที่ชื่อว่า Glucuronyl Transferase ซึ่งใช้ในการจำกัดยาชนิดนี้ออกไปจากร่างกาย ส่งผลให้เมื่อน้องแมวได้รับยาพาราเซตามอลเข้าไปจะส่งเป็นผลร้ายต่อร่างกายแทน ขนาดของยาพาราเซตามอลที่ทำให้เกิดพิษต่อน้องแมวจนเสียชีวิตได้นั้น คือ 50-100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งหมายความว่ายาพาราเซตามอล 1 เม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัมก็สามารถทำให้น้องแมวเสียชีวิตได้

 

อาการของน้องแมว เมื่อกินยาพาราเซตามอล และวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น
เมื่อน้องแมวได้รับยาพาราเซตามอล จะมีอาการเหงือกซีดไปจนคลํ้า ลิ้นม่วง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว อุณหภูมิร่างกายตํ่า และอาจรวมไปถึงอาการอื่น ๆ เช่น หน้าบวม เท้าบวม ไม่อยากอาหาร อาเจียน นํ้าลายไหล การปฐมพยาบาลในเบื้องต้นหากน้องแมวบริโภคยาพาราเซตามอลเข้าไป คือต้องทำให้แมวอาเจียน หรือ ป้อนยาผงถ่านคาร์บอน ภายใน 4 ชั่วโมงหลังได้รับยา จากนั้นรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยเร็วที่สุด

แม้จะอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอแล้ว การรักษาจะเป็นการให้ยาต้านพิษของพาราเซตามอลตามอาการ แต่ทว่าโอกาสรอดชีวิตนั้นอาจไม่สูงนัก การป้องกันไม่ให้น้องแมวได้รับยาเข้าไปจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า หากเจ้าของแมวท่านใดพบว่าน้องแมวมีอาการผิดปกติ ซึม เบื่ออาหาร ตัวร้อน มีไข้ ควรรีบพาน้องแมวไปพบสัตวแพทย์ใกล้บ้าน ไม่ควรรอ และห้ามหายาแก้ไข้ หรือซื้อยาจากในอินเตอร์เน็ตมาป้อนให้กับน้องแมวด้วยตัวเองเด็ดขาดเลยค่ะ

 

 

 

บทความโดย น.สพ.พงษ์สุริยา เสมา

SOCIALICON
SOCIALICON
SOCIALICON