การที่เรารับสุนัขเข้ามาเลี้ยงสักตัว เราก็คงไม่หวังอะไรมากไปกว่าอยากให้เขาอยู่กับเราไปนานๆ แต่การที่น้องหมาจะอยู่กับเราได้นานนั้น จำเป็นต้องมาควบคู่กับการดูแลให้มีสุขภาพที่ดี และแข็งแรง
วิธีการเลี้ยงดูสุนัขของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันออกไป บางคนอาจมีเทคนิค เคล็ดลับเฉพาะตัว บางคนก็ไม่มีเทคนิคอะไรมากสักเท่าไรนัก สำหรับมือใหม่หลายๆ คนก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะ Lifemate ได้รวบรวมเทคนิคการดูแลน้องหมา ที่จะเปลี่ยนมือใหม่อย่างคุณให้กลายเป็นมืออาชีพ สามารถทำตามได้ง่ายๆ จะมีขั้นตอนยังไงบ้าง ตามมาดูกันเลย
1. ดูแลเรื่องของอาหาร
การเลือกซื้ออาหารดีมีคุณภาพ จำเป็นต้องอ่านฉลากอย่างละเอียด เลือกให้เหมาะกับสายพันธุ์ ขนาด ช่วงวัย โรคที่เป็น และควรให้อาหารตรงเวลาทุกวัน แนะนำว่าให้ 2 ครั้งต่อวัน และเราควรรู้ก่อนว่า แต่ละวันต้องให้อาหารมากน้อยแค่ไหน ปกติมักมีรายละเอียดบอกอยู่ที่ข้างถุงอาหาร พอรู้แล้วก็เอาปริมาณนั้นมาหารสอง แบ่งส่วนแรกให้ตอนเช้า และส่วนที่สองเก็บไว้ให้ตอนเย็น ถ้าเราเริ่มให้อาหารเป็นเวลา ก็จะช่วยให้เขาฝึกขับถ่ายง่ายขึ้นด้วย เพราะปกติหมา จะขับถ่ายของเสียหลังจากมื้ออาหาร 20–30 นาที
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ พยายามอย่าให้สุนัขขาดน้ำเป็นอันขาด เพราะน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นต่อร่างกายมาก อีกทั้งไม่ควรให้เขากินอาหารของคนด้วยนะ เพราะอาหารคนมีสารอาหารมากเกินความจำเป็นต่อร่างกายสุนัข อาจทำให้เป็นโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ตามมาได้
2. ดูแลเรื่องสุขภาพ
เริ่มจากมองหาเพ็ทช็อป หรือโรงพยาบาลสัตว์ใกล้บ้าน หากเปิด 24 ชั่วโมง และไม่มีเว้นวันหยุดก็จะดีมาก เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้พาเขาไปหาหมอได้ทันเวลา เราสามารถแบ่งรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพสุนัขได้ ดังนี้
ฉีดวัคซีนให้ครบตามโปรแกรม วัคซีนตัวสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ Rabies หรือ วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และต้องไม่ลืมที่จะพาไปฉีดยากระตุ้นวัคซีนตามกำหนดให้ครบด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัยของทั้งสุนัข และผู้เลี้ยงเอง
การฝังไมโครชิป เป็นการฝังไมโครชิปขนาดเล็กจิ๋วเข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณสะบัก โดยชิปนั้นจะมีหมายเลขประจำตัวของสุนัขที่บันทึกไว้ในฐานข้อมูล พร้อมรายละเอียดของผู้เลี้ยง เผื่อเกิดกรณีสุนัขถูกขโมย หรือหายออกไปแล้วมีคนเก็บได้ สามารถนำส่งตามคลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์ เพื่อจะได้สแกนหาเจ้าของถูกคน
หมั่นกำจัดปรสิตต่างๆ การป้องกันสุนัขจากพยาธิต่างๆ อย่างพยาธิตัวกลม (Roundworms) ซึ่งจะบ่อยแค่ไหนนั้นก็แล้วแต่ลักษณะการเลี้ยงดู ถ้าเลี้ยงแบบปิดก็เสี่ยงน้อยหน่อย เพราะไม่ได้ออกไปนอกบ้านแล้วบังเอิญติดพยาธิกลับมา รวมถึงผู้เลี้ยงต้องอธิบายพฤติกรรมการเลี้ยงให้คุณหมอฟังด้วย เพื่อจะได้รับคำแนะนำถูกว่าต้องป้องกันยังไง และควรถ่ายพยาธิบ่อยแค่ไหน ถ้าเสี่ยงน้อยก็อาจถ่ายพยาธิ 2-3 ครั้งต่อปี แต่ถ้าเสี่ยงมากหน่อยก็ต้องถ่ายกันทุกเดือน
ทำหมัน ก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งในการดูแลสุขภาพของสุนัข เพราะการทำหมันช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคบางอย่าง เช่น มะเร็งเต้านม (ถ้าทำหมันทันก่อนฤดูผสมพันธุ์รอบที่ 2), มดลูกอักเสบ, โรคต่อมลูกหมาก อีกทั้งยังช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวด้วย ความจริงแล้วการพาเขาไปทำหมันจะเรียกว่าเป็นความรับผิดชอบอันดับแรกของคนเลี้ยงสุนัขเลยก็ว่าได้ เพื่อป้องกันปัญหาท้องโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งอาจเป็นปัญหากับคุณ และสังคมได้
3. การกรูมมิ่งหรือเสริมสวย
ถ้าคุณหมั่นแปรงขนให้น้องหมาเป็นประจำ จะทำให้เขาขนร่วงน้อยลง ขนจะสวยไม่พันกัน ส่วนความถี่ในการแปรงก็แตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ ให้ใช้ทั้งแปรงและหวีควบคู่กันไป ไม่ให้เหลือปม หรือกระจุกขนพันกัน ขนที่ดีควรจะต้องสะอาดอยู่เสมอ เพราะถ้าขนเหนียวหรือสกปรก ผิวหนังอาจจะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ การเสริมสวยให้สุนัขยังถือเป็นโอกาสให้คุณได้ลูบๆ จับๆ เพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติตามร่างกายของเขาด้วย
4. ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามลักษณะของแต่ละสายพันธุ์
พยายามให้สุนัขออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ก็ต้องพอเหมาะพอควรกับสายพันธุ์ที่คุณเลี้ยง อย่างสุนัขสายพันธุ์เล็ก แค่เล่นคาบของ เล่นลูกบอล ก็เหนื่อยมากแล้ว แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์ใหญ่อย่างลาบราดอร์ ก็ต้องเดินไกลวันละ 2 รอบ รอบละ 30-45 นาทีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เกิดการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย นอกจากนี้ยังมีบางสายพันธุ์ที่ไฮเปอร์ซะจนออกกำลังกายหนักแค่ไหนก็ไม่รู้จักเหนื่อย เช่น เทอร์เรีย ที่วิ่งทั้งวันก็ยังสบายๆ การออกกำลังกายเป็นการสร้างผลดีต่อตัวเขาเอง เพราะเขาจะได้ถ่ายเทพลังงานส่วนเกินออกไปบ้าง ถ้ามีพลังงานเยอะแต่ไม่เคยใช้เลย สุนัขจะเครียดจนเกิดเป็นพฤติกรรมที่สร้างปัญหาได้ เช่น ระบายพลังส่วนเกินโดยการกัดแทะ ขุดคุ้ย หรือเห่าไม่ยอมหยุด ซึ่งนั่นคงไม่ดีแน่ใช่ไหมล่ะ
ข้อมูลที่ได้นำมาบอกมานี้ ก็เป็นเทคนิคการดูแลสุนัขแบบง่ายๆ ที่ Pet Parent ทุกคนสามารถทำกันได้ แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า แท้จริงแล้วผู้เลี้ยงนั้นให้ความใส่ใจน้อง หมา ของตัวเองมากน้อยเพียงใด เพราะทุกขั้นตอนล้วนแต่ต้องการเวลา และการดูแลเอาใจใส่จากผู้เป็นเจ้าของมากที่สุด