เวลาคนเราพูดถึงอายุของสุนัขเมื่อเทียบกับอายุของมนุษย์ หลายคนมักเลือกใช้วิธีคูณด้วยเลข 7 ง่ายๆ เพื่อประเมินดูว่าน้องหมาของเรานั้น น่าจะเด็กหรือแก่เพียงใด
แต่การวิจัยครั้งใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Cell Systems เมื่อเร็วๆ นี้ ลบล้างแนวคิดที่ว่านี้ไปหมดซะแล้ว เพราะนักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า อายุของมนุษย์และสุนัขไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกัน
นักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ได้คิดสูตรการคำนวณอายุสุนัขที่พิจารณาตัวแปรเรื่องอัตราการแก่ที่ไม่เท่ากันที่ว่านี้ไว้ด้วย และติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับโมเลกุลของดีเอ็นเอของสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ อายุตั้งแต่ไม่กี่สัปดาห์ จนถึงที่มีอายุ 16 ปี รวมกันทั้งหมดจำนวน 104 ตัว จนได้ผลลัพธ์ที่สรุปว่า อายุของสุนัขเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่ามนุษย์ในช่วงต้นๆ ของชีวิต ก่อนที่อัตราการแก่ตัวจะเริ่มชะลอลงเมื่อโตเต็มวัยแล้ว
เทรย์ ไอเดเคอร์ หัวหน้าทีมวิจัย ให้ความเห็นไว้ว่า ผลวิจัยที่ได้ช่วยอธิบายปริศนาเกี่ยวกับอายุของสุนัขได้อย่างดี เพราะหากใช้สูตรการคูณด้วย 7 แล้ว การที่สุนัขอายุ 9 เดือนสามารถตั้งท้องได้ ก็ไม่สอดคล้องกับอายุของมนุษย์เอาซะเลย
จากการศึกษาครั้งนี้ นักวิจัยพบว่า สุนัขอายุ 1 ปี กลับแก่เท่าๆ กับมนุษย์อายุ 30 ปีเลยทีเดียว ขณะที่สุนัขอายุ 4 ปี กลับมีอายุเทียบเท่ากับ 52 ปีของมนุษย์
ทั้งนี้ สูตรการคำนวณอายุสุนัขแบบใหม่นี้ เป็นวิธีคำนวณวิธีแรกที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นๆ ได้ด้วย และนักวิทยาศาสตร์วางแผนที่จะทดลองผลลัพธ์ของการวิจัยกับสุนัขพันธุ์อื่นๆ เพื่อศึกษาเรื่องผลกระทบของช่วงอายุขัยต่อไป
นักวิจัยยังเชื่อด้วยว่า การเฝ้าสังเกตการณ์การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเติมหมู่เมธิลเข้าไปในโมเลกุลของดีเอ็นเอ ก่อนและหลังการใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยชะลอวัย (Anti-aging) จะช่วยให้สัตว์แพทย์ทำการตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับการวินิจฉัยโลกและการรักษาสัตว์ได้แม่นยำมากขึ้น
ไอเดเคอร์ บอกว่า ผลการศึกษาล่าสุดนี้ ทำให้ทั้งนักวิจัยและเจ้าของสัตว์เลี้ยงเข้าใจความเป็นไปของสุนัขใกล้ตัวได้ดีขึ้น อย่างเช่นในกรณีของตัวเขาเอง ที่เลี้ยงสุนัขอายุ 6 ปี ซึ่งเขามักคิดว่ายังไม่แก่เท่าไหร่ แต่หลังได้ข้อสรุปงานวิจัยนี้แล้ว ทำให้เขาคิดได้ว่า สุนัขของเขา “ไม่ได้อายุน้อย อย่างที่ตนคิดเสมอมา” อีกต่อไป
*ข้อมูลจาก voathai.com